ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ยจากกากมันสำปะหลัง

โดย : นายวิเชียร ลำเลียง วันที่ : 2017-03-28-13:29:22

ที่อยู่ : 27/1 บ้านโนนเรืองศรี หมู่ที่ 11 ตำบลยาง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เห็ดฟาง  เป็นเห็ดที่คนไทยนิยมบริโภคมานาน  มีรสชาติดีคุณค่าทางอาหารสูง  เป็นอาหารพวกผักแต่มีคุณค่าสูงกว่าผักพบได้ตามธรรมชาติข้างกองฟางที่มีความชื้น  ปัจจุบันได้นำมาเพาะเพื่อบริโภคและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม  ซ้ำยังสามารถเพาะได้ง่ายใช้วัสดุเศษเหลือทางการเกษตรมาเพาะได้  เช่น  ฟางข้าว  กากเปลือกถั่ว  ไส้นุ่น   ต้นกล้วย  ผักตบชวา  ทลายปาล์ม กากเปลือกมันสำปะหลัง  มีวิธีการเพาะหลายรูปแบบ  เช่น  การเพาะแบบกองสูง  การเพาะแบบกองเตี้ยประยุกต์  การเพาะในโรงเรือน  การเพาะในเข่ง 

                ในที่นี้จะแนะนำการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ยโดยใช้กากมันสำปะหลังและการเพาะเห็ดโดยใช้ตอซังฟางข้าว  เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้สนใจได้นำไปเพาะเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน  หรือเพาะเพื่อเป็นอาชีพเสริมรายได้ในครัวเรือนได้

วัตถุประสงค์ ->

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1.      กากมันสำปะหลัง  ( กากดิน )

2.       น้ำสะอาดควรเป็นน้ำสระไม่เค็มจะดีที่สุด

3.       อาหารเสริม ( มูลสัตว์แห้ง , ราละเอียด หรือ วัสดุอื่นที่หาได้  เช่น  กากไส้นุ่น , จอกแห้ง , คายข้าว )

4.       EM/น้ำหมักชีวภาพ

5.       ปูนขาว

6.       ฟางสำหรับคลุมกอง

อุปกรณ์ ->

1.   ไม้แบบขนาด 20+40+20 , 20+50+20  ซม.  20+70+20  ซม.

3.   ไม้โครง ( ไม้ไผ่ผ่าซีก  กว้าง 1 นิ้ว  ยาว  1.60  เมตร

4.    บัวรดน้ำ

5.    พลาสติกสำหรับคลุมกองเห็ด

6.    จอบ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1.  เตรียมแปลงเพาะโดยขุดตากดินยกแปลงเพื่อฆ่าเชื้อโรคตากทิ้งไว้ประมาณ   7  วัน

ย่อยดินให้ละเอียดขนาดแปลง  กว้าง  1  เมตร  ยาวตามความต้องการ   

       2.  นำกากมัน ( กากดิน ) มาบรรจุในไม้แบบอัดเป็นแท่งพอแน่นจากนั้นถอดไม้แบบ  แล้วอัดแท่งกากมันเรียงในแปลงที่เตรียมไว้ห่างกันแต่ละแท่ง  10-15  ซม.  ถ้าอากาศเย็นให้ห่างกันน้อย  ถ้าอากาศร้อนให้ห่างกันมากขึ้น

     3.  ขณะอัดแท่งกากมัน  ถ้าแห้งให้รดน้ำพอชุ่มไม่ให้แท่งพังแตก

     4.  อัดแท่งกากมัน  อย่างน้อย  แปลงละ  20  แท่ง  เพื่อให้การควบคุมอุณหภูมิในแปลงไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป

     5.  โรยอาหารเสริมระหว่างช่องว่างของแท่งกากมันบางๆ 

     6.  โรยเชื้อเห็ดฟาง  บนอาหารเสริม  โดยเชื้อเห็ดฟางต้องนำมาขยำรวมกันก่อน  อัตราการใช้  1  ถุง   ต่อ  2  ตารางเมตร (แล้วแต่ขนาดถุง)    แล้วรดน้ำให้ชุ่มทั่วแปลง  

     7.  คลุมด้วยพลาสติกให้ชิดกองใช้พลาสติก  1  ผืนกลบชายพลาสติกด้วยดินให้สนิท

 

     8.  คลุมด้วยฟางแห้ง

     9.  ทิ้งไว้ประมาณ  3-4  วัน  แล้วแต่ฤดูกาล 

     10.  เส้นใยเห็ดจะเดินขาวฟูในกอง  ให้ทำการตัดใย  โดยใช้น้ำสะอาดผสม EM  และ  กากน้ำตารดบางๆ  พอเส้นใยขาด        

     11.  ขึ้นโครงโดยใช้ไม้ไผ่ปักโค้งห่างกันพอควรแล้วคลุมพลาสติกแบบเกยทับ  2  ผืน  แล้วคลุมด้วยฟาง

     12.  หมั่นตรวจดูอุณหภูมิในกองเห็ด  ถ้าร้อนจัดให้เปิดข้างกองตอนเช้าหรือเย็น  ครั้งละ  5-10  นาที  แล้วปิดตามเดิม

     13.  จากนั้นประมาณ  5-7  วัน  ดอกเห็ดจะโตสามารถเก็บมาบริโภคและจำหน่ายได้

     14.  การเก็บดอกเห็ด  ควรเก็บในช่วงเช้ามืดและเก็บเมื่อเห็ดขนาดดอกตูมหัวแหลมจะได้น้ำหนักดี    แต่ถ้าจะเก็บเพื่อทำป่นให้เก็บดอกบานมาย่างไฟจะอร่อย

ข้อพึงระวัง ->

ถ้าใช้ฟางเพาะแนะนำให้ใช้ตอซังฟางข้าวจะให้ผลผลิตดีกว่าปลายฟาง  โดยใช้การถอนทั้งรากแต่ฟางที่ใช้เพาะต้องแห้งสนิทไม่เคยผ่านความชื้นหรือโดนฝนมาก่อนจะเกิดเชื้อราเพาะเห็ดไม่ขึ้น

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา