ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ทอผ้าไหม

โดย : นางไพจิตร อินทร์ตา วันที่ : 2017-08-22-15:35:34

ที่อยู่ : 3 บ.หนองคูพัฒนา ต.ขอนแตก

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

การทอผ้าไหมนับเป็นหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่ทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน โดยบรรพบุรุษได้สืบทอดกันมา ส่วนลวดลายต่าง ๆ ที่ได้คิดขึ้นมา โดยการนำลักษณะต่าง ๆ ของธรรมชาติเช่น ดอกไม้ ดาว เดือน สัตว์

ของใช้ มาคิดประดิษฐ์ ประดอยเป็นลายผ้า จนมีชื่อเรียกตามลักษณะของสิ่งเหล่านั้น เช่น ดอกแก้ว บ่าง กระเบี้ย (ผีเสื้อ) รันร่ม ขอคำเดือน ขิด สำรวจ(จรวด) หงส์ และมีการพัฒนาลายผ้าจากที่คิดให้มีความซับซ้อนสวยงามยิ่งขึ้น เช่น ลายขอซ้อนน้อย(เล็ก) ซ้อนใหญ่ ลายด่านน้อย ด่านกลาง ด่านใหญ่ หงส์น้อย ลายหงส์ใหญ่

          ซึ่งในหมู่บ้านมีการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  และมีคนทอผ้าที่มีฝีมือจำนวนมากที่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ  ร่วมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วพร้อมทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ  ที่สามารถหาได้ในชุมชน  ทำให้คนในชุมชนมีความสนใจที่จะประกอบอาชีพทอผ้าไหม สืบต่อไป

วัตถุประสงค์ ->

๑.      เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถทอผ้าไหมได้

๒.      เพื่อเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

๓.      เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

๔.      เพื่อให้ผู้รับการฝึกอบรม ได้เรียนรู้การทำปลาส้มและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

๕.      นำความรู้ที่รับจากการฝึกอบรมนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. เส้นไหม                    

2. น้ำยาล้างไหม

3. สีย้อมไหม

4. ด่างฟอก

5. สบู่เทียม

6. ฟางใช้มัดหมี่

อุปกรณ์ ->

1. กง เป็นเครื่องมือสำหรับใส่ไหมที่เป็นปอย (ไน) แล้วนำไปกรอใส่ใน

2. อัก ใช้คู่กับกงจะรับเส้นไหมจากกงมาใส่ไว้ใน

3. หลา, ไน หรือเครื่องกรอหลอด

4. หลอดกรอไหม ใช้สำหรับใส่เส้นไหม

5. ฮัง (ที่เสียบหลอด) เป็นที่เก็บหลอดกรอไหม

6. ก้านสวย (กระสวย) ใช้คู่กับหลอด

7. กี่ทอผ้า หรือกี่กระตุก เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับทอผ้าให้เป็นผืนสำเร็จออกมา

8. ฟืม (ฟันหวี) เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับแยกเส้นไหมยืนให้ออกจากกัน

9. ตะกอ ทำจากเส้นด้ายป่าน ที่มีความแข็งแรง เหนียวแน่น ทำหน้าที่ยกเส้นไหมให้ขึ้นลง

10. กรรไกร ใช้สำหรับตัดตกแต่งผ้าไหม

11. ผัง ใช้สำหรับตึงริมผ้าให้เสมอกัน มีลักษณะเป็นไม้ยาวเท่ากับความกว้างของผ้ากระบวนการ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการสาวไหม

          เมื่อได้รับไหมสดจะต้องนำไปอบให้แห้ง จากนั้นนำไหมที่อบแห้งไปต้มในน้ำที่สะอาดที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆเส้น การสาวต้องเริ่มต้นจากขุยรอบนอกและเส้นใยภายใน(ชั้นกลาง) รวมกันเรียกว่า “ไหมสาว” หรือ “ไหมเปลือก” ครั้นสาวถึงเส้นใยภายใน(ชั้นในสุด) แล้วเอารังไหมที่มีเส้นภายในแยกไปสาวต่างหาก เรียกว่า “เส้นไหมน้อย” หรือ “ไหมหนึ่ง” ผู้สาวไหมต้องมีความชำนาญและทักษะจึงจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี เมื่อเติมรังไหมลงไปอีกรังไหมใหม่สามารถรวมเส้นกับรังไหมเก่าได้ โดยไม่ทำให้เส้นไหมขาด แล้วนำไปตีเกลียว การตีเกลียวเส้นไหมจะช่วยทำให้ผ้าที่จะทอมีความหนา

ขั้นตอนเตรียมเส้นไหม      

การเตรียมเส้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. การเตรียมเส้นไหมพุ่ง จะเป็นการเตรียมเส้นไหมเพื่อตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่โดยใช้เครื่องมือในการการค้นลำหมี่ โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป

2. การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ

ขั้นตอนการมัดหมี่

          การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบลายที่เป็นแบบลายโบราณและแบบที่เป็นลายประยุกต์ โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ เช่น ผ้าที่ออกแบบลายไว้มี 5 สี ต้องทำการมัดย้อม 5 ครั้ง เป็นต้น

ขั้นตอนการย้อมสี

          การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูกทนต่อการซักค่อนข้างดี การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีข้อดี คือ สีไม่ฉูดฉาด สีอ่อนเย็นตากว่าสีสังเคราะห์ จึงทำให้สีของผ้างดงามสัมพันธ์กับรูปแบบของผ้าพื้นเมือง สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและฝ้าย วิธีย้อมคือ การคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้นๆ ต้มให้เดือด จากนั้นนำไหมชุบน้ำให้เปียกบิดพอหมาด กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นจึงแช่ในน้ำย้อมสีที่เตรียมไว จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งจะได้เส้นไหมที่มีสีตามต้องการ

ขั้นตอนการแก้หมี่

          การแก้หมี่ คือ การแก้เชือกฟางที่มัดหมี่แต่ละลำออกให้หมดหลังจาการย้อมในแต่ละครั้ง

ขั้นตอนการทอผ้า

          ขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะออกมาเป็นผ้าผืน คือการทอผ้าไหมจะประกอบไปด้วยเส้นไหม 2 ชุด คือชุดแรกเป็น “เส้นไหมยืน” จะขึงไปตามความยาวผ้าอยู่ติดกับกี่ทอ(เครื่องทอ) หรือแกนม้วนด้านยืน อีกชุดหนึ่งคือ “เส้นไหมพุ่ง” จะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้นต้องสอดให้สุดถึงริมแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้นขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้

ข้อพึงระวัง ->

1.      ข้อพึงระวังเวลามัดหมี่ คือการมัดโอบแต่ละครั้งจะต้องมัดเชือกให้แน่นที่สุดเพื่อป้องกัน เวลาล้างด่างจะได้ไม่ออก เวลาแกะเชือกต้องระวังไม่ให้ถูกเส้นไหม เพราะเวลากวักจะทำให้กวักยากข้าวสุกที่ใช้ควรเป็นข้าวสุกใหม่ ๆ  และกระเทียมต้องไม่มีเชื้อราปนเปื้อน

2.      ระยะเวลาในการต้ม  ในช่วงการฟอกกาวหรือการลอกกาวของเส้นไหม

3.      ความเหมาะสมของขนาดไหมในการฟอกกาวที่มีความพอดี

 

 

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุรินทร์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา