ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงโคขุน/เกษตรผสมผสาน

โดย : นายพลอน ถนัดรอบ วันที่ : 2017-05-09-16:43:34

ที่อยู่ : 267 หมู่ที่ 5 ต.เขวาสินรินทร์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

บ้านเขวาสินรินทร์ มีการเลี้ยงโคเป็นอาชีพเสริม มีรายได้เลี้ยงครอบครัว โดยสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเลี้ยงโค โคขุน และการเลี้ยงโคขุน หมายถึง การเลี้ยงโคที่ยังอายุน้อยให้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ โดยการให้อาหารแก่โคที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งอาหารหยาบ และอาหารข้นอย่างเต็มที่ ในสภาพการเลี้ยงแบบขังคอกอย่างเดียวหรือร่วมกับการปล่อยแปลงหญ้า

วัตถุประสงค์ ->

1. มีทักษะในการเลี้ยงโค

2. มีหน่วยงานให้การสนับสนุน

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

การคัดเลือกโคเข้าขุน
การคัดเลือกโคมาขุน ควรยืนอยู่ห่างจากโคประมาณ 6-7 เมตร แล้วพิจารณาโคจากลักษณะภายนอก ดังนี้
1. เลือกโคที่มีกระดูกหน้าแข้งใหญ่ ขนาดของกระดูกมีความสัมพันธ์ทางบวกกับปริมาณเนื้อโค คือ โคที่มีกระดูกใหญ่จะมีโครงร่างใหญ่ และมีเนื้อมากด้วย เพราะกระดูกเป็นตัวเกาะยึดของกล้ามเนื้อ ความจริงแล้วกระดูกมีราคาต่ำ แต่การเพิ่มเนื้อของโคที่มีกระดูกใหญ่เมื่อเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะมากกว่าการเพิ่มน้ำหนักของกระดูก และโคที่มีกระดูกใหญ่จะมีอัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารดีกว่าด้วย ส่วนโคที่มีกระดูกหน้าแข้งเล็ก แสดงว่าโคตัวนั้นมีกระดูกและโครงร่างเล็ก
2. ระยะห่างระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกก้นกบมาก ทำให้โคตัวนี้มีสัดส่วนสะโพกยาว และมีเนื้อส่วนที่มีราคาแพงมาก ส่วนโคที่มีระยะห่างระหว่างกระดูกเชิงกรานกับกระดูกก้นกบน้อย เป็นโคที่มีสะโพกสั้น และมีเนื้อส่วนที่ขายได้ราคาแพงน้อย
3. กระดูกก้นกบควรอยู่สูงและห่างจากกันมากๆ เป็นผลให้มีเนื้อส่วนท้ายมาก ซึ่งเนื้อส่วนท้ายมีราคาแพงเช่นกัน ถ้ากระดูกก้นกบอยู่ไม่ห่างกัน เนื้อส่วนท้ายจะน้อย
4. แนวสันหลังตรง และยาว หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลำตัวยาว และลำตัวไม่ลึกนัก ซึ่งปกติส่วนครึ่งล่างของกลางลำตัวโคจะมีเนื้อน้อยและราคาต่ำ

การตอน
การตอน เป็นวิธีทำให้โคไม่สามารถสร้างฮอร์โมนเพศได้ เพื่อจุดประสงค์ทำให้โคมีน้ำหนักเพิ่มได้เร็ว รวมถึงเหตุผลอื่น ได้แก่
1. เพื่อความสะดวกในการเลี้ยงดู กล่าวคือ ถ้าเลี้ยงโคที่ไม่ได้ตอนหลายตัวในคอกเดียวกันจะเกิดปัญหาขวิดกันเป็นแผล และคอกพัง ถ้าตอนแล้วปัญหานี้จะลดน้อยลง
2. ทำตามตลาดต้องการ กล่าวคือ ตลาดชั้นสูงและตลาดพื้นบ้านในภาคกลาง จะต้องการเนื้อโคที่มีไขมันมาก โคที่ไม่ตอนจะไม่มีไขมันหรือถ้ามีก็น้อยมาก ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด อย่างไรก็ตามโคในภาคใต้หรือตลาดมาเลเซีย นิยมโคที่ไม่ตอนมากกว่าโคที่ตอนแล้ว

การตอนโคควรทำตั้งแต่เริ่มขุน ถ้าหากทำการตอนระยะหลังเมื่อโคอ้วนแล้วจะทำให้โคบอบช้ำมาก และอาจจะชะงักการการเติบโตไประยะหนึ่ง

 

อาหาร และการให้อาหาร
1. อาหารข้น
อาหารข้นเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงโคขุน เนื่องจากเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมากกว่าอาหารปกติที่โคกิน เช่น อาหารหยาบทั่วไป เนื่องจาก การขุนโคมีระยะการเลี้ยงขุนเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งต้องทำให้โคมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด อาหารขั้นอาจได้จากอาหารสำเร็จรูปตามท้องตลาด และการหาวัตถุดิบมาผสมเอง แต่โดยทั่วไปเกษตรกรมักหาแหล่งวัตถุดิบมาผสมเป็นอาหารข้นใช้เอง  เช่น ข้าวโพด รำ และปลายข้าว กากมันสำปะหลัง กระดูกป่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใบกระถิน ยูเรีย รวมถึงผงแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นต้น

การผสมอาหารข้น ควรนำเอาวัตถุดิบที่ใช้น้อยเช่น ยูเรีย เกลือ กระดูกป่น และวิตามิน ผสมกับอาหารประเภทพลังงานเพียง 20-30 กิโลกรัม ก่อน แล้วค่อยนำส่วนผสมอื่นเข้าผสม เพื่อให้วัตถุดิบที่มีปริมาณน้อยกระจายในวัตถุดิบอื่นได้อย่างทั่วถึง

การจัดเตรียมอาหารข้น
อาหารข้นประกอบด้วย อาหารประเภทพลังงาน อาหารประเภทโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และสารเสริมต่างๆ วัตถุดิบที่ต้องใช้ปริมาณมากที่สุด คือ อาหารพลังงาน เช่น ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ปลายข้าว รำ และมันสำปะหลัง การที่จะเลือกใช้ชนิดใดนั้น ขึ้นกับราคาในขณะนั้น และความสะดวกในการจัดหา

สำหรับอาหารโปรตีนที่นิยมใช้ คือ ใบกระถิน และยูเรีย แต่การใช้ยูเรียมีข้อจำกัด คือ สามารถใช้ยูเรียได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ของอาหารข้น และต้องผสมให้เข้ากันดี มิฉะนั้นแล้ว ถ้าโคตัวใดได้รับยูเรียเข้าไปมากเกินไปก็จะถึงตายได้ และควรใช้กับโคที่มีตั้งแต่อายุ 7 เดือนขึ้นไป ส่วนเกลือป่น และกระดูกป่น จำเป็นต้องมีอยู่ในอาหารข้นประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าโคกินฟางเป็นอาหารหลัก อาจเพิ่มแคลเซียมจากเปลือกหอย หรือปูนมาร์ล 0.5% วิตามินส่วนใหญ่จุลินทรีย์ในกระเพาะสามารถสังเคราะห์ขึ้นมาอย่างเพียงพอ ยกเว้นวิตามินเอซึ่งร่างกายต้องการในปริมาณมาก อาจต้องเสริมลงในอาหารข้นบ้าง แต่ถ้าโคกินหญ้าสด หรืออาหารข้นที่มีข้าวโพด และใบกระถินอยู่พอควรก็ไม่ต้องเติม ส่วนรำเป็นอาหารที่ดี แต่มีปัญหาเรื่องการหืน จึงไม่ควรใช้รำเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ข้าวโพด และข้าวฟ่างที่ใช้ผสมอาหารควรบดเพียงหยาบๆ หรือเพียงบีบให้แบนยิ่งดี

 

2. อาหารหยาบ
หญ้าสด คือ อาหารหยาบที่เป็นอาหารหลักของโค โดยหญ้าสดเป็นแหล่งเยื่อใยที่ช่วยระบบย่อยอาหาร แหล่งวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ และจำเป็นอย่างยิ่งที่โคต้องกินหญ้าในทุกวัน เนื่องจาก หญ้าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของจุลินทรีย์ในกระเพาะของโค หญ้าสดควรหญ้าอ่อนมีอายุประมาณ 15 ถึง 21 วัน

แหล่งของหญ้าอาจเป็นหญ้าที่หาได้จากท้องไร่ปลายนา โดยเฉพาะในฤดูฝนจะมีปริมาณที่เพียงพอ และหาได้ง่าย แต่หากเป็นฤดูแล้งมักจะขาดแคลน ทั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาด้วยการปลูกหญ้าในแปลง แต่อาจต้องใช้น้ำเพื่อการดูแลมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูแล้ง หญ้าที่ควรปลูกเลี้ยงโคขุน คือ หญ้าขน หญ้ารูซี่ และหญ้ากินนี

นอกจากนั้น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือใบพืชบางชนิดก็ถือเป็นแหล่งอาหารหยาบที่สามารถหาได้ง่าย เช่น ฟางข้าว เปลือกสับปะรด ใบข้าวโพด ใบกระถิน ใบมันสำปะหลัง ยอดอ้อย ต้นกล้วย เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้ก็สามารถทดแทน และเป็นแหล่งอาหารเสริมจากหญ้าได้เป็นอย่างดี

3. กากน้ำตาล
กากน้ำตาลเป็นผลพลอยได้จากการหีบอ้อย ซึ่งกากน้ำตาลอุดมไปด้วยอาหารประเภทแป้ง มีรสหวาน สัตว์ชอบกิน แต่มีโปรตีนน้อยมาก การให้โคกินจะไม่ให้ผสมกับน้ำ แต่จะใช้ราดใส่ในอาหารหยาบหรืออาหารข้น เช่น ราดผสมฟาง ราดผสมกับอาหารข้น เป็นต้น

กากน้ำตาลให้พลังงานสูง แต่ไม่ควรให้เกิน 20% เพราะจะทำให้โคท้องร่วง เนื่องจากมีโพแทสเซียมอยู่มาก มันสำปะหลังเป็นอาหารที่โคชอบกินมาก ส่วนสารเสริมต่างๆ ได้แก่ สารเร่งการเจริญเติบโต เช่น รูเมนซิน และยาปฏิชีวนะ ก็อาจใช้ตามความจำเป็น

 

ประโยชน์ของกากน้ำตาล
ลูกโค (ยังไม่หย่านม)
-น้อยมาก
-มีโปรตีนต่ำ แนะนาให้ใช้ราอ่อนแทนจะดีกว่า ถ้าจะให้ลูกโคกินกากน้ำตาล ห้ามผสมกับยูเรีย

โครุ่นและแม่โครีดนม
-น้อยมาก
-มีโปรตีนต่ำ แนะนาให้ใช้อาหารเม็ด หรือ ราแทน

โคขุน (ระยะแรก)
– น้อยมาก
– โคต้องการโปรตีนมาก เพื่อสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อ

โคขุน (ตั้งแต่ 4-5เดือนขึ้นไป)
– มาก
– ช่วยเพิ่มไขมันแทรกในเนื้อ แนะนำให้โคกินกากน้ำตาลตามใจชอบ โดยค่อยๆเพิ่มทีละน้อย

4. แร่ธาตุก้อน
นอกจากอาหารหลักที่เป็นแป้ง โปรตีน ไขมัน และวิตามิน แล้ว การเลี้ยงโคขุนจำเป็นต้องเสริมแร่ธาตุให้แก่โคด้วย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ทองแดง เป็นต้น เพื่อเสริมการทำงานของร่างกาย และส่งเสริมการเจริญเติบโต รวมทั้งกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

วิธีการเสริมแร่ธาตุ
จัดหาแร่ธาตุก้อนห้อยไว้เหนือรางอาหาร เพื่อให้โคเลียกิน แต่หากไม่มีแร่ธาตุก้อน ให้เสริมเกลือผสมกับอาหารหรือใช้แร่ธาตุผงผสม

 

อาหารที่เป็นพิษ
1. ข้าวนึ่ง
โคชอบกินข้าวนึ่ง เนื่องจากเป็นแป้งสุกที่ทีรสหวาน เมื่อโคกินเข้าไปจะเกิดการหมักของจุลินทรีย์ทำให้เกิดแอลกอฮอล์ และกรดในระบบทางเดินอาหาร จนกัดกระเพาะได้ ซึ่งไม่มียารักษา แต่ป้องกันได้โดยไม่ให้โคกินข้าวนึ่งหรือให้กินในปริมาณน้อย

2. ปุ๋ยยูเรีย
ปุ๋ยยูเรียที่ใช้สำหรับอาหารโคนิยมใช้สำหรับผสมกับอาหารหยาบ เพื่อช่วยในการหมัก และเป็นแหล่งเสริมโปรตีน ซึ่งต้องผสมในอัตราที่พอเหมาะ

3. มันสำปะหลัง
มันสำปะหลังสด ทั้งใบสด และหัวสด มีสารพิษไซยาไนด์ ถ้าโคกินมากจะทำให้โคป่วยตายได้ รวมถึงเกิดแก๊สในกระเพาะมากทำให้โคท้องโตจากแก๊สได้ แต่สามารถลดพิษได้โดยการนำใบหรือหัวที่ผ่าแล้วมาตากแดดแดดให้แห้งก่อน

4. ถุงพลาสติกหรือผ้า
โคมีพฤติกรรมที่ชอบเลีย และกินถุงพลาสติกหรือเสื้อผ้า เพราะมีรสจากการปนเปื้อนของอาหาร  สิ่งเหล่านี้ เมื่อโคกินเข้าไปจะย่อยไม่ได้ และเกิดอุดตันในระบบทางเดินอาหาร ทำให้โคจะกินอาหารน้อยลง และสูบผอม ซึ่งไม่มียารักษา ป้องกันได้โดยหมั่นเก็บถุงพลาสติก เศษผ้า หรือวัสดุต่างๆออกจากบริเวณเลี้ยงให้หมด

เทคนิคการขุนโค
ระยะแรก
เป็นช่วงเริ่มขุนให้ใช้อาหารข้นตามสูตรที่กล่าวมาแล้ว วันละ 2 ครั้ง

ระยะที่สอง
เป็นช่วงก่อนเดือนสุดท้ายของการขุน 1 เดือนให้เพิ่มการให้อาหารข้นเป็น วันละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งให้น้อยกว่าระยะแรกตัวละครึ่งกิโลกรัม

ระยะสุดท้าย
คือเดือนสุดท้ายของการขุนให้เปลี่ยนแปลงสูตรโดยการเพิ่มปริมาณมันเส้นเพื่อให้โคอ้วนเร็วขึ้นดังนี้
สัปดาห์ที่ 1 : เพิ่มมันเส้น 2.5 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 2 : เพิ่มมันเส้น 5.0 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 3 : เพิ่มมันเส้น 7.5 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม
สัปดาห์ที่ 4 : เพิ่มมันเส้น 10 กิโลกรัม จากอาหารข้น 100 กิโลกรัม

ในเดือนสุดท้าย ให้อาหารวันละ 3 ครั้ง เช่นเดียวกับระยะที่สองคือให้น้อยกว่าปกติครึ่งกิโลกรัมเป็นการเร่งให้โคขุนมีความสม่ำเสมอในการกระจายไขมันพอกตัว ทำให้เนื้อที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ เมื่อตัดแต่งขายจะได้ราคาดีมากกว่าโคขุนที่มีการกระจายไขมันที่ไม่สม่ำเสมอ

ลักษณะโคเมื่อพร้อมส่งตลาด
การเจริญเติบโตจากเริ่มขุนกระทั่งส่งตลาด มี 3 ระยะดังนี้


ระยะที่ 1
เป็นการเพิ่มการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้มีโครงร่างใหญ่พร้อมรับเนื้อ และมันที่จะสะสมในการขุนระยะต่อไป โครงร่างที่ใหญ่จะใช้เวลาในการสะสมเนื้อและไขมันนานกว่าโคที่มีโครงร่างเล็กกว่า

ระยะที่ 2
เป็นการสะสมกล้ามเนื้อทั่วร่างกายที่สำคัญ คือ สันในสันนอก หัวไหล่ สะโพก หากพบว่าโคตัวใดขุนมาถึงระยะนี้คือประมาณ 3 เดือน แล้วโคยังมีลักษณะไม่เหมาะสมควรตัดออกขายเป็นโคมัน ไม่ควรเก็บไว้ขุนต่อเพราะจะไม่มีกำไรลักษณะไม่เหมาะสมดังกล่าว มี 2 ประการคือ
– ผอม แสดงว่าโคพันธุ์ไม่ดี เลี้ยงไม่โต อาจเนื่องมาจากเป็นโคที่มีโครงร่างใหญ่เกินไปหรือไม่ก็โคลักษณะไม่ดี
– อ้วนกลม แสดงว่าโคมีโครงร่างเล็กเกินไป เลี้ยงเพียง 4 เดือนก็กลมเสียแล้วทำให้น้ำหนักส่งตลาดต่ำเกินไป ได้ราคาไม่ดีเท่ากับโคโครงร่างใหญ่

ระยะที่ 3
เป็นการสะสมไขมันได้แก่ ไขมันหุ้มตัว และไขมันแทรกกล้ามเนื้อที่พร้อมส่งตลาดจะมีความกลมจนเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและโคนหาง จะปรากฏมีก้อนไขมัน 2 ก้อนอยู่ข้างโคนหาง สวาปไม่บุ๋ม เนื้อแน่น หาดปล่อยเกินระยะนี้ไป โคจะกินแต่อาหารแต่จะไม่โต และเนื้อจะยุบไม่เต่งตึง ควรรีบจับขายทันที โคขุนที่ดี ควรมีไขมัน(ไขมันหุ้มสันนอก)ที่วัดจากกลางหลังหนาไม่ต่ำกว่า 1.5 เซนติเมตร

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุรินทร์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา