ความรู้สัมมาชีพชุมชน

ทอผ้าไหม

โดย : นางสาวนพวรรณ ทองนำ วันที่ : 2017-05-09-14:27:15

ที่อยู่ : 19 หมู่ที่ 5 ต.บึง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ชาวบ้านบึง มีทักษะอาชีพด้านการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เป็นอาชีพเสริมรายได้มาช้านาน และมีกลุ่มทอผ้าไหมในหมู่บ้าน มีการพัฒนาทักษะให้ได้ตามที่ตลาดต้องกานเสมอ

วัตถุประสงค์ ->

1. มีการพัฒนาทักษะการสาวไหมโดยกรมหม่อนไหม

2. มีการส่งเสริมการพัฒนาลวดลายผ้าโดยกรมการพัฒนาชุมชน

3. มีการรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการและพัฒนาศักยภาพ

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

อุปกรณ์ ->

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ขั้นตอนการสาวไหม

เมื่อได้รับไหมสดจะต้องนำไปอบให้แห้ง จากนั้นนำไหมที่อบแห้งไปต้มในน้ำที่สะอาดที่มีคุณสมบัติเป็นกลาง รังไหมจะเริ่มพองตัวออก ใช้ปลายไม้เกี่ยวเส้นใยออกมารวมกันหลายๆเส้น การสาวต้องเริ่มต้นจากขุยรอบนอกและเส้นใยภายใน(ชั้นกลาง) รวมกันเรียกว่า “ไหมสาว” หรือ “ไหมเปลือก” ครั้นสาวถึงเส้นใยภายใน(ชั้นในสุด) แล้วเอารังไหมที่มีเส้นภายในแยกไปสาวต่างหาก เรียกว่า “เส้นไหมน้อย” หรือ “ไหมหนึ่ง” ผู้สาวไหมต้องมีความชำนาญและทักษะจึงจะได้เส้นไหมที่มีคุณภาพดี เมื่อเติมรังไหมลงไปอีกรังไหมใหม่สามารถรวมเส้นกับรังไหมเก่าได้ โดยไม่ทำให้เส้นไหมขาด

การตีเกลียวเส้นไหมจะช่วยทำให้ผ้าที่จะทอมีความหนา หลังจากเอาไหมสองไหมสามออก ใช้ไม้คีบลักษณะคล้ายไม้พาย มีร่องกลางสำหรับคีบ เกลี่ยรังไหมกดให้เส้นไหมตีเกลียวแน่นดูเล็ก ต้องระมัดระวังและต้องอาศัยความชำนาญและมีเทคนิคในการทำให้รังที่ต้มเกาะกันเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ ทำให้เส้นไหมพันหรือไขว้กันหลายๆรอบ แล้วพักไว้ในกระบุงต่อจากนั้นจะนำมากรอเข้า “กง” แล้วนำไปหมุนเข้า “อัก” เพื่อตรวจหาปุ่มปม หรือตัดแต่งเส้นไหมที่ไม่เท่ากันออกจึงเอาเข้าเครื่องปั่นเพื่อให้เส้นไหมแน่นขึ้น ก่อนที่จะหมุนเข้ากงอีกครั้ง เพื่อรวมเป็นไจ ซึ่งหนึ่งไจจะต้องหมุนกง 80 รอบ เรียกว่า “ไหมดิบ” เส้นไหมดิบที่ได้จะต้องทำการชุบให้อ่อนตัวโดยนำไปชุบน้ำสบู่อ่อนๆ ประมาณ 15-20 นาที แล้วนำไปสลัดและผึ่งลมให้แห้ง โดยหมั่นกระตุกให้เส้นไหมแยกตัวเพื่อนำไปเข้าระวิงได้ง่าย จากนั้นกรอเส้นไหมเข้าหลอดๆละเส้น แล้วดึงปลายไหมแต่ละหลอดเข้าไปรวมกันม้วนเข้าหลอดควบตามขนาดที่ต้องการจากนั้นนำไปตีเกลียวประมาณ 330 รอบ ต่อความยาว 1 เมตร จากนั้นนำไหมไปนึ่งหรือลวก เพื่อป้องกันมิให้เกลียวเส้นไหมหมุนกลับหลังจากนั้นจะชุบน้ำเย็นแล้วกรอเข้าระวิง เรียกว่า “ทำเข็ด” ซึ่งจะทำให้เกลียวอยู่ตัว

ขั้นตอนเตรียมเส้นไหม

การเตรียมเส้นไหม จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. การเตรียมเส้นไหมพุ่ง การเตรียมเส้นไหมพุ่ง จะเป็นการเตรียมเส้นไหมเพื่อตรียมพร้อมสำหรับการนำไปมัดหมี่โดยใช้เครื่องมือในการการค้นลำหมี่ โดยการนำเส้นไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว มาทำการค้นปอยหมี่เพื่อให้ได้ลำหมี่พร้อมสำหรับการไปมัดหมี่ในกระบวนการต่อไป

2. การเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) โดยการค้นหูกหรือค้นเครือ คือ กรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำให้เป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20-30 ผืน (1 ผืนยาวประมาณ 180-200 เซนติเมตร)

ขั้นตอนการมัดหมี่

การมัดหมี่ คือ การทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสันต่างๆตามแบบหรือลายที่ได้ออกแบบไว ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบลายที่เป็นแบบลายโบราณและแบบที่เป็นลายประยุกต์ โดยการมัดเส้นไหมให้เป็นลวดลายที่เส้นพุ่งด้วยเชือกฟางมัดลายแล้วนำไปย้อมสี แล้วนำมามัดลายอีกแล้วย้อมสีสลับกันหลายครั้ง เพื่อให้ผ้าไหมมีลวดลายและสีตามต้องการ เช่น ผ้าที่ออกแบบลายไว้มี 5 สี ต้องทำการมัดย้อม 5 ครั้ง เป็นต้น

ขั้นตอนการย้อมสี

การย้อมสีไหมจะต้องนำไหมดิบมาฟอกเพื่อไม่ให้มีไขมันเกาะ โดยจะใช้ด่างจากขี้เถ้าไปฟอกไหม เรียกว่า “การดองไหม” จะทำให้เส้นไหมขาวนวลขึ้น แล้วจึงนำไปย้อม ในสมัยก่อนนิยมใช้สีจากธรรมชาต แต่ปัจจุบันการย้อมด้วยสีธรรมชาติเริ่มหายไป เนื่องจากมีสีวิทยาศาสตร์เข้ามาแทนที่ ที่หาซื้อง่ายตามร้านขายเส้นไหมหรือผ้าไหม เมื่อละลายน้ำจะแตกตัว ย้อมง่าย สีสดใส ราคาค่อนข้างถูกทนต่อการซักค่อนข้างดี การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีข้อดี คือ สีไม่ฉูดฉาด สีอ่อนเย็นตากว่าสีสังเคราะห์ จึงทำให้สีของผ้างดงามสัมพันธ์กับรูปแบบของผ้าพื้นเมือง สีธรรมชาติจะติดสีได้ดีในเส้นไหมและฝ้าย วิธีย้อมคือ การคั้นเอาน้ำจากพืชที่ให้สีนั้นๆ ต้มให้เดือด จากนั้นนำไหมชุบน้ำให้เปียกบิดพอหมาด กระตุกให้เส้นไหมเรียงเส้นจึงแช่ในน้ำย้อมสีที่เตรียมไว จากนั้นนำไปผึ่งให้แห้งจะได้เส้นไหมที่มีสีตามต้องการ

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุรินทร์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา