ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าไหมลายเก็บ

โดย : นางคำกอง บุญธรรม วันที่ : 2017-07-04-14:32:31

ที่อยู่ : 92 หมู่ที่ 6 บ้านสะแบะ ตำบลศรีสุข

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ผ้าไหมลายเก้บ เป็นผ้าพื้นเมืองของภาคอีสาน  บางส่วนจะพบทางภาคเหนือและภาคกลาง  นับว่าเป็นศิลปะในการคิดสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนให้เห็นภาพ  ลักษณะ  ลวดลายและวิวัฒนาการของชุมชนหรือท้องถิ่นของไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวบ้านในชุมชนหรือท้องถิ่นถือว่าในกระบวนการทอผ้าทั้งหลาย การทอผ้าลายขิดจะต้องอาศัยความชำนาญและต้องมีชั้นเชิงทางฝีมือสูงกว่าการทอผ้าอย่างอื่น  เพราะทอได้ยากมาก  มีเทคนิกการทอที่ซับซ้อนกว่าการทอผ้าแบบธรรมดา  เพราะต้องใช้เวลานานและความอดทนสูง  ประกอบกับมีความละเอียด  ลออมาก  

วัตถุประสงค์ ->

สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เส้นไหมยืน

เส้นไหมพุ่ง

สีย้อมไหม (เหลืองเข)

อุปกรณ์ ->

5. อุปกรณ์ทอผ้าพื้นเมือง

               - อุปกรณ์เตรียมด้ายยืน ด้ายพุ่ง
                              1) กง ใช้พันเส้นด้าย เพื่อเตรียมไจด้ายสำหรับฟอกและย้อม
                              2) อัก ใช้พันเส้นด้าย เพื่อจัดระเบียบ

 

                              3) กระบอกไม่ไผ่ ใช้สำหรับพันเส้นด้าย ใช้แทนหลอดด้าย
                              4) แกนกระสวย ใช้สำหรับพันด้ายพุ่งเป็นหลอดเล็กๆ

 

                              5) ไน เป็นเครื่องมือสำหรับกรอด้ายเข้าหลอดด้าย ก่อนที่จะนำไปใส่กระสวย ต้องนำไปใช้ร่วมกับระวิง มีลักษณะด้านหนึ่งเป็นกงล้อขนาดใหญ่มีเพลาหมุนด้าย มีสายพานต่อไปยังท่อเล็กๆ ที่ปลายอีกข้างหนึ่ง

 

                              6) หลักเปีย (หลักเผีย) โครงไม้สำหรับเตรียมด้ายยืน สามารถเตรียมด้ายยืนยาว 20 - 30 เมตร (ปัจจุบันมีหลักเปียขนาดใหญ่ เตรียมด้ายยืนได้ยาวกว่า 100 เมตร)

                           7) แปรงหวีด้ายยืน
                                          - ใช้หวีด้ายยืนให้แผ่กระจาย และเรียงตัวเป็นระเบียบ
                                          - ใช้หวีด้ายยืนหลังจากลงแป้ง
                            8) อุปกรณ์สำหรับมัดหมี่คือ โฮ่งมัดหมี่

 

              - เครื่องทอผ้าพื้นเมือง เรียกว่า กี่ หรือ หูกทอผ้า

            - ส่วนประกอบของกี่ทอผ้า

 

            1) ฟืมหรือฟันหวี (reed) เป็นกรอบไม้แบ่งเป็นช่องถี่ๆด้วยลวดซี่เล็กๆ สำหรับจัดระเบียบเส้นด้ายยืน ตีกระทบเส้นด้ายพุ่งเพื่อให้ผ้ามีเนื้อแน่นเป็นผืนผ้า
            2) ตะกอหรือเขาหูก (harness) ส่วนใหญ่เป็นตะกอเชือก จัดกลุ่มเส้นด้ายยืนเปิดช่องด้ายยืน สำหรับใส่ด้ายพุ่ง
            3) แกนม้วนผ้าหรือไม้กำพั่น ใช้ม้วนผ้าที่ทอแล้วใช้ลำต้นไม้ที่มีขนาดสม่ำเสมอ และเหยียดตรง
            4) แกนม้วนด้ายยืน ใช้ม้วนด้ายยืนขณะทอ
            5) เท้าเหยียบ ใช้ควบคุมการยกตะกอ
            6) ที่นั่ง สำหรับนั่งขณะทอผ้า
            7) กระสวย ใช้สอดใส่ด้ายพุ่งจะมีลักษณะคล้ายเรือ มีร่องใส่แกนกระสวยมีทั้งแบบแกนเดี่ยวและแกนคู่

 

            8) ผัง
                        - ไม้เล็ก เรียว ยาวกว่าหน้าผ้าเล็กน้อย ปลาย 2 ข้างเป็นเหล็กแหลม
                        - ใช้สำหรับขึงหน้าผ้าให้ตึง และมีขนาดคงเดิมขณะทอ

            อุปกรณ์ที่ทำให้เกิดลวดลาย
                        1. อุปกรณ์สำหรับผ้าจก ประกอบด้วย ขนเม่น ไม้หลาบสำหรับเก็บลวดลายและจัดแยกเส้นด้ายยืนขณะทอ

 

                        2. อุปกรณ์สำหรับผ้าขิตไม้หลาบ ใช้จัดแยกด้ายยืนขณะทอ ไม้สอด ใช้เก็บลาย

                     3. อุปกรณ์สำหรับผ้ามัดหมี่โฮ่งมัดหมี่ ใช้เตรียมด้ายพุ่งเพื่อมัดและแกะเชือกมัด

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. การเตรียมเส้นไหม

    จะต้องนำเส้นมาคัดเส้นไหมที่มีขนาดเส้นสม่ำเสมอ และมีการตกแต่งไจไหมที่เรียบร้อย คือ เส้นไหมจัดเรียงแบบสานกันเป็นตาข่ายการทำไพประมาณ 4-6 ตำแหน่ง ขนาดน้ำหนักไหมต่อไจโดยประมาณ 80-100 กรัม ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานในขั้นตอนการลอกกาว ย้อมสี และการกรอเส้นไหม

2. การลอกกาวเส้นไหมทั้งเส้นพุ่งเส้นยืน โดยวิธีการใช้สารธรรมชาติ

        การเตรียมสารลอกกาวธรรมชาติ นำกาบต้นกล้วยมาทำการเผาไฟจนกระทั่งเป็นขี้เถ้า นำขี้เถ้าไปแช่น้ำใช้ไม้คนให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้ขี้เถ้าตกตะกอนแบ่งชั้นน้ำและตะกอน ทำการกรองน้ำใสที่อยู่ส่วนบนชั้นตะกอนด้วยผ้าบาง สารที่ได้ คือสารลอกกาวธรรมชาติ นำเส้นไหมที่ได้เตรียมไว้แล้วมาทำการต้มลอกกาวด้วยสารลอกกาวธรรมชาติดังกล่าวโดยใช้ในสัดส่วนของสารลอกกาวต่อเส้นไหมโดยประมาณ30:1 ในระหว่างการต้มลอกกาวจะมีการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลาประมาณ 90 นาที ในระหว่างการต้มลาวกาว ให้ทำการกลับเส้นไหมในหม้อต้มลาวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กระบวนการลอกกาวเส้นไหมสมบูรณ์ นำเส้นไหมที่ทำการลอกกาวเสร็จเรียบร้อยออกจากหม้อต้ม นำไปล้างน้ำร้อนน้ำอุ่น แล้วบีบน้ำออกจากเส้นไหม นำเส้นไหมไปตากผึ่งแห้งที่ราวตาก ทั้งนี้ให้ทำการกระตุกเส้นไหมเพื่อให้มีการเรียงเส้นไหมในแต่ละไจ อย่างเรียบร้อย นั่นคือการลอกกาวเส้นไหม เราก็จะได้เส้นไหมที่พร้อมจะย้อมสี เพื่อนำไปทอผ้าต่อไป

3. การเตรียมฟืมทอผ้า

          ทำการค้นเส้นด้ายลักษณะเดียวกับการค้นเส้นยืน จากนั้นนำเส้นด้ายมาร้อยเข้ากับฟืม โดยการร้อยผ่านช่องฟันหวีแต่ละช่องทุกช่องๆละ2เส้น แล้วใช้ท่อนไม้ไผ่เล็กๆสอดเข้าในห่วงเส้นด้ายที่ร้อยเข้าช่องฟันหวีเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงและจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย ส่วนด้านหน้าของฟืมก็จะมีท่อนไม้ไผ่เช่นเดียวกับด้านหลังเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงเช่นเดียวกับด้านหลังของฟืมที่กล่าวมาแล้ว จากนั้นให้ทำการเก็บตะกอฟืมแบบ2ตะกอ เราก็จะได้ชุดฟืมทอผ้าที่พร้อมสำหรับการทอผ้า

4. การย้อมเส้นไหมยืน

 

        เตรียมน้ำย้อมสีเส้นไหม โดยทั่วไปผ้าแพรวาในสมัยโบราณเส้นยืนจะใช้สีแดง ที่มาจากครั่ง นำครั่งมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปแช่น้ำนานประมาณ 1 คืน ทำการกรองน้ำย้อมสีด้วยผ้าบาง ปริมาณครั่งที่ใช้ในการเตรียมน้ำย้อมประมาณ 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตรต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มาทำการย้อม โดยเริ่มจากการการย้อมเย็นเพื่อให้น้ำย้อมสีสามารถซึมเข้าไปในเส้นไหมได้อย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ ป้องกันการเกิดสีด่างบนเส้นไหม เมื่อน้ำย้อมได้ซึมเข้าเส้นไหมจนทั่วแล้ว ก็ให้ยกหม้อต้มย้อมขึ้นตั้งบนเตาเพื่อเพิ่มความร้อนจนกระทั่งอุณหภูมิอยู่ที่ระดับ 90 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือสังเกตได้จากการที่น้ำย้อมจะใส จากนั้น ให้นำเส้นไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง แล้วทำการบีบน้ำให้แห้ง ทำการตากผึ่งให้แห้ง

5. การเตรียมเส้นยืน

        นำเส้นไหมยืนที่ทำการย้อมสีด้วยสีแดงเข้มของครั่ง มาทำการค้นเครือหูก หรือที่เรียกว่าการค้นเส้นยืน โดยใช้หลักเฝือเป็นอุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน การเตรียมค้นเส้นยืนจะเริ่มต้นโดยการนำเส้นไหมไปสวมเข้าในกง เพื่อทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นก็ทำการค้นเส้นยืน โดยมีหลักการนับ คือ รอบละ2เส้น 2รอบเป็น4เส้น เรียกว่า 1 ความ 10ความ เท่ากับ 1 หลบ การนับจำนวนความจะใช้ซี่ไม้มาคั่นเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น 1 หลบจะมีเส้นไหม 40 เส้น หลบ คือ หน้ากว้าง ในสมัยโบราณนิยมทอผ้าสไบหน้ากว้างจะใช้ 8 หลบ ต่อมามีการขยายหน้ากว้างเพิ่มเช่น 22 หลบ 34 หลบ เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการออกแบบตั้งแต่เริ่มแรก

6. การต่อเส้นยืน

        การต่อเส้นยืนคือการนำเส้นไหมเส้นยืนมาผูกต่อกับเส้นด้ายในซี่ฟันหวีโดยทำการต่อที่ละเส้นจนหมดจำนวนเส้นยืน เช่น หากหน้ากว้างของผ้าเท่ากับ 22 หลบ ก็จะต้องทำการต่อเส้นยืนเท่ากับ 1,760 เส้น เป็นต้น เมื่อต่อเส้นไหมเข้ากับเส้นไหมที่อยู่ในซี่ฟันหวี่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการม้วนเส้นยืนด้วยแผ่นไม้ พร้อมทั้งการจัดเรียงระเบียบของเส้นไหมตามช่องฟันฟืมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จากนั้น ก็ทำไปติดตั้งเข้ากับหูกทอผ้าหรือกี่ทอผ้า เพื่อการเก็บเขาลายหรือตะกอต่อไป ก่อนทำการทอผ้าจะต้องใช้แปรงจุ่มน้ำแป้งทาเคลือบเส้นยืนที่อยู่ในกี่ก่อน เพื่อทำให้เส้นกลม มีความแข็งแรง เส้นไหมไม่แตกเป็นขนเนื่องจากกระทบกับช่องฟันฟืมเวลาทอผ้า

 

7. การเตรียมเส้นพุ่งที่ทำการย้อมสีต่างๆ

        การเตรียมน้ำย้อมสีเส้นไหม โดยทั่วไปผ้าแพรวาโบราณจะมีจำนวนสีหลากหลายสีในแต่ละลายหลัก ซึ่งสีที่นิยมใช้กันมากก็จะเป็นสีเข้ม เช่น สีเหลือง สีน้ำเงินเข้ม สีเขียว สีแดง เป็นต้น ซึ่งแต่ละสีก็จะได้มาจากชิ้นส่วนของพืชและสัตว์ ดังนี้

(1) สีเหลือง เป็นสีที่ได้มาจากแก่นเข วิธีการเตรียม คือ นำแก่นเขมาทำให้เป็นชิ้นเล็กๆก่อนทำการต้มกับน้ำ การต้มให้ต้มเดือดนานประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง จากนั้นก็ให้ทำการกรองด้วยผ้าบางเพื่อแยกส่วนของน้ำย้อมสีกับกากเหลือของแก่นเขออกจากกัน นำเส้นไหมเส้นพุ่งที่ต้องการย้อมสีเหลืองมาทำการย้อม โดยเริ่มต้นการย้อมโดยวิธีย้อมเย็นเพื่อให้การซึมเข้าของสีสม่ำเสมอ จากนั้นจึงใช้ความร้อนในการเพิ่มอุณหภูมิประมาณ 90-95 องศาเซลเซียส ย้อมนานประมาณ 30 นาที จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมเสร็จแล้วมาทำการล้างด้วยน้ำ 2-3 ครั้ง เพื่อล้างสีส่วนเกินออกให้หมด ซึ่งจะทำให้ผ้าไหมไม่ตกสี นำเส้นไหมที่ล้างน้ำแล้วบีบน้ำออกแล้วนำไปผึ่งตากให้แห้ง

 

(2) สีน้ำเงิน เป็นสีที่ได้มาจากเนื้อคราม วิธีการเตรียม คือจะต้องมีการก่อหม้อครามก่อนเพื่อที่นำน้ำย้อมสีครามนั้นมาใช้ในการเตรียมน้ำย้อมสีคราม เมื่อได้น้ำย้อมสีน้ำเงินแล้ว นำเส้นพุ่งที่ต้องการย้อมสีน้ำเงินมาทำการย้อม โดยกรรมวิธีการย้อมสีครามจะเป็นการย้อมเย็น โดยการนำเส้นไหมลงย้อมในน้ำย้อม แล้วใช้มือบีบนวดเส้นไหมเพื่อให้สีสามารถซึมเข้าได้ทั่วถึง การย้อมครามอาจจะต้องทำการย้อมซ้ำ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่การการติดสีของครามและระดับความเข้มของสีที่ต้องการ

 

(3) สีแดง เป็นสีที่ได้จากครั่ง วิธีการเตรียมน้ำย้อมสีแดงที่มาจากครั่ง นำครั่งมาตำให้ละเอียด จากนั้นนำไปแช่น้ำนานประมาณ 1 คืน ทำการกรองน้ำย้อมสีด้วยผ้าบาง ปริมาณครั่งที่ใช้ในการเตรียมน้ำย้อมประมาณ 5 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตรต่อเส้นไหม 1 กิโลกรัม นำเส้นไหมที่เตรียมไว้มาทำการย้อม โดยเริ่มจากการการย้อมเย็น เพื่อให้น้ำย้อมสีสามารถซึมเข้าไปในเส้นไหมได้อย่างทั่วถึง และสม่ำเสมอ ป้องกันการเกิดสีด่างบนเส้นไหม เมื่อน้ำย้อมได้ซึมเข้าเส้นไหมจนทั่วแล้ว ก็ให้ยกหม้อต้มย้อมขึ้นตั้งบนเตาเพื่อเพิ่มความร้อนจนกระทั่งอุณหภูมิอยู่ที่ระดับ 90-95 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือสังเกตได้จากการที่น้ำย้อมจะใส จากนั้น ให้นำเส้นไหมที่ย้อมสีเรียบร้อยแล้วไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง แล้วทำการบีบน้ำให้แห้ง ทำการตามผึ่งให้แห้ง

 

(4) สีเขียว เป็นสีที่ได้จากการใช้สี 2 สี คือ สีเหลืองจากแก่นเข และสีน้ำเงินจากคราม นำเส้นพุ่งที่ต้องการจะย้อมสีเขียวมาทำการย้อมสีเหลืองก่อน และล้างสีส่วนเกินออกให้หมดก็จะได้เส้นไหมที่ย้อมสีเหลือง ให้นำเส้นไหมสีเหลืองที่เตรียมไว้ไปย้อมทับด้วยสีน้ำเงินก็จะทำให้เส้นที่ย้อมเป็นสีเขียว นำเส้นไหมที่ย้อมสีเสร็จเรียบร้อยแล้วมาทำการล้างสีส่วนเกินออกให้หมด โดยล้างน้ำ 2-3 ครั้ง จากนั้นบีบน้ำออก ทำการผึ่งตากแห้ง ซึ่งทุกครั้งจะต้องทำการกระตุกเส้นไหมให้เรียงกันเรียบร้อย

8. การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด

 

      การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด นำเส้นไหมที่ย้อมสีต่างๆแล้วมาเข้ากง แล้วทำการกรอเส้นไหมเข้าหลอด เพื่อเตรียมเป็นเส้นพุ่งเพื่อใช้ในการเกาะลาย และใส่กระสวยในการทอขัด

 

9. การเก็บเขาลาย / การเก็บตะกอลายขัด

ข้อพึงระวัง ->

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดสุรินทร์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา