ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน

โดย : นายเปลี่ยน บุตรดี วันที่ : 2017-03-25-23:29:48

ที่อยู่ : 1 หมู่ที่ 11 ตำบลตาโกน

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

เมื่อก่อน อาชีพหลักของข้าพเจ้า คือทำนา นอกช่วงฤดูทำนา ก็ไปรับจ้างต่างจังหวัด ต่อมาจึงเกิดความคิดอยากมีรายได้เสริมที่บ้าน ไม่ต้องไปรับจ้างต่างจังหวัด จึงได้เริ่มต้นทำอาชีพเสริม โดยการเลี้ยงไก่พื้นบ้าน โดยเริ่มศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงต่างๆ จากการอบรม การค้นหาข้อมูลจากหนังสือ และจากผู้มีประสบการณ์ในการเลี้ยง โดยข้าพเจ้าเริ่มเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ทำให้เกิดความชำนาญ เกี่ยวกับวิธีการ ขั้นตอนในการเลี้ยงเป็นอย่างดี ทำให้มีรายได้เสริม เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน และเก็บออม

วัตถุประสงค์ ->

1.เพื่อสร้างอาชีพเสริม

2.เพื่อเพิ่มรายได้

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

พันธุ์ไก่พื้นเมือง

อุปกรณ์ ->

เล้า  สุ่ม  รางอาหาร  ภาชนะใส่น้ำ

กระบวนการ/ขั้นตอน->

ไก่พื้นเมือง หรือเรียกว่า ไก่บ้าน หรือไก่ไทยเป็นไก่ที่เลี้ยงง่าย กินอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติได้ เริ่มต้นจากซื้อลูกไก่อายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไปมาเลี้ยง สร้างโรงเรือนหรือเล้าให้ไก่นอนแบบง่ายๆ โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่นำมากั้นเป็นเล้า มุงหลังคาด้วยแฝกหรือจาก พื้นเล้าต้องไม่ชื้นแฉะ อาจปูด้วยแกลบ ขี้เลื่อย หรือฟางแห้ง หนาอย่างน้อย 4 ซ.ม. และต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนให้หนาเท่าเดิมอยู่เสมอ เล้าไก่ต้องมีประตูเปิด-ปิดได้ เพื่อให้ไก่ออกหาอาหารกินเอง  ภายนอกได้

             - เล้ากว้าง 3 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 2 เมตร เลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ได้ 30 - 40 ตัว

             - เล้ากว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 1 เมตร เลี้ยงไก่ขนาดใหญ่ 6 - 8 ตัว

ภายในเล้าประกอบด้วยอ่างดิน แล้วเอาลวด

1.      ภาชนะใส่น้ำ ซื้อที่บรรจุน้ำสำหรับไก่ หรือใช้ภาชนะอื่น เช่น ตาข่ายมาดัดโค้งคลุมภาชนะ เพื่อให้ไก่ยื่นคอไปดื่มกินได้เท่านั้น ไม่อาจเหยียบย่ำให้หกเลอะเทอะได้

2.      รางอาหาร ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าครึ่ง และใช้สลักตอกยึดกับพื้นไม่ให้รางพลิก

3.      รังไข่ เพื่อให้แม่ไก่ไข่และฟักไข่ ใช้เข่งขนาดกลางรองด้วยหญ้าหรือฟางแห้งให้ถึงครึ่ง ตั้งไว้ในที่มิดชิด แต่ไม่ร้อนเกินไป และให้มีจำนวนรังไข่เท่ากับจำนวนแม่ไก่ที่จะไข่

4.      ม่านกันฝน ด้านที่ฝนสาดหรือแดดส่องมากๆ ควรมีกระสอบหรือเสื่อเก่า ๆ  บังไว้

5.      คอนนอน สำหรับให้ไก่นอน ควรทำจากไม้กลมพาดไว้มุมใดมุมหนึ่งของเล้า

การให้อาหารไก่

1.                           มีน้ำสะอาดตั้งไว้ให้ไก่กินตลอดวัน และเปลี่ยนน้ำทุก ๆวัน

2.                           ให้อาหารหลายๆ ชนิดผสมกันทุกเช้า-เย็น ได้แก่ ปลายข้าว รำข้าว ข้าวโพดป่น ปลาป่น     ข้าวเปลือก กากถั่ว กากมะพร้าว เป็นต้น หรือใช้หัวอาหารไก่สำเร็จรูปผสมกับรำข้าวหรือปลายข้าวก็ได้ ที่สำคัญควรมีเปลือกหอยป่นผสมเกลือป่น และผักสด เช่น ใบกระถิน ใบแค ให้ไก่กินทุกวัน เพื่อเสริมสร้างแร่ธาตุและไวตามิน

การเลี้ยงไก่เพื่อขาย      

เมื่อไก่อายุประมาณ 3-4 เดือน(ไก่รุ่น) ต้องนำมาขุน โดยให้กินอาหารอย่างดีเต็มที่ ประมาณ 1 เดือน น้ำหนักตัวประมาณ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ซึ่งสามารถขายส่งตลาดเป็นไก่เนื้อได้

การเลี้ยงไว้กินไข่

แม่ไก่จะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือน เมื่อแม่ไก่ออกไข่ วันรุ่งขึ้นจะไข่ใหม่อีก 1 ใบ ให้เก็บไข่ใบเก่าออก และเก็บออกทุกๆ วัน โดยให้เหลืออยู่ในรังไข่ใบเดียว พอสังเกตเห็นว่าไก่จะเริ่มฟักไข่ คือกินอาหารน้อยลง เพื่อบังคับตัวเองไม่ให้ไข่ต่อไป ต้องแยกแม่ไก่มาขังเลี้ยงไว้ต่างหาก และหาอาหารที่มีโปรตีน เช่น ปลาป่นกับรำและปลายข้าวให้ไก่กิน นำพ่อพันธุ์ใส่ให้อยู่ด้วยกันประมาณ 4-5 วัน ไก่จะเริ่มไข่ แม่ไก่จะไข่ปีละประมาณ 3-4 ชุด ๆ ละ 10-12 ฟอง

การขยายพันธุ์

เมื่อสังเกตเห็นแม่ไก่มีสีขนและหน้าเริ่มซีดมาก ขนจะเริ่มร่วง มันจะผลัดขนและไม่ไข่ ในช่วงนี้ควรปล่อยให้แม่ไก่ฟักไข่ โดยใช้เวลาฟักไข่จนออกเป็นตัวประมาณ 21 วัน เมื่อลูกไก่ฟักออกหมดแล้ว ควรเอาฟางที่รองรังไข่รวมทั้งเปลือกไข่เผ่าทิ้งเสียและทำความสะอาดรังไข่

การเลี้ยงลูกไก่

เมื่อลูกไก่ออกจากไข่หมดแล้ว ควรให้แม่ไก่เลี้ยงลูกเองโดยการย้ายทั้งแม่ไก่และลูกไก่มาขังในสุ่มบนพื้นดินที่แห้ง ในระยะแรกควรมีถาดอาหารใส่รำ ปลายข้าว หรือเศษข้าวสุกให้ลูกไก่กิน และมีถ้วยหรืออ่างน้ำตื้น ๆ ใส่น้ำสะอาดให้กินตลอดเวลา  เมื่อลูกไก่อายุประมาณ 2 อาทิตย์ และแข็งแรงดีแล้ว จึงเปิดสุ่มออก ปล่อยให้ลูกไก่ไปหากินกับแม่ไก่ได้  หรือถ้าต้องการให้แม่ไก่เตรียมตัวไข่รุ่นต่อไปเร็วขึ้น ก็ให้แยกลูกออกจากแม่ไปเลี้ยงในสุ่มต่างหาก เพื่อให้ลูกไก่แข็งแรง จนอายุได้ 1-2 เดือน จึงปล่อยเลี้ยงในเล้าได้

การคัดเลือกพันธุ์ไก่

1.      พ่อไก่ที่ดีจะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์ และแข็งแรง มีน้ำหนักตั้งแต่ 2.5 กก. ขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 9 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี

2.      แม่ไก่ที่ดี จะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์และแข็งแรง มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 1.5 กก. ขึ้นไป มีอายุตั้งแต่ 7 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี

·       ให้ไข่อย่างน้อยปีละ 4 ชุด ๆ ละ 12 ฟอง

·       ฟักไข่ออกและเลี้ยงลูกรอดจนโตอย่างน้อย ชุดละ 6 ตัว

·       ไม่ดุร้าย คอยจิกตีลูกไก่ของแม่ไก่ตัวอื่น

การป้องกันรักษา โรคระบาดที่ร้ายแรงและสำคัญ ได้แก่

1.  โรคนิวคาสเซิล เป็นโรคระบาดไก่ที่ร้ายแรงที่สุด

อาการ หายใจลำบาก น้ำมูกไหล  คอบิด ขาและปีกเป็นอัมพาต อุจจาระร่วงเป็นสีเขียว

การป้องกัน   ฉีดวัคซีนให้ไก่ตั้งแต่อายุ 3 เดือนขึ้นไป

2.   โรคฝีดาษไก่

อาการ มีตุ่มคล้ายหูดเกิดขึ้นตามผิวหนังบริเวณที่ไม่มีขน ที่หัวของฝีเป็นแผลมีสะเก็ดสีน้ำตาลปิดอยู่ ต่อมาจะแห้ง และหลุดไป หรืออีกอาการหนึ่ง คือ เป็นแผลในลำคอ น้ำลายไหลยืด มีกลิ่นเหม็นมาก

การป้องกัน

·       ระวังอย่าให้ยุงกัดไก่เล็ก

·       ใช้ทิงเจอร์ไอโอดีนทาตามตุ่มฝี และให้ยากิน

·       ฉีดวัคซีนให้ไก่อายุ 1 อาทิตย์ขึ้นไป

3.   โรคอหิวาต์

อาการ ถ้าเป็นอย่างร้ายแรง ไก่จะตายโดยไม่แสดงอาการให้เห็น ถ้าเป็นอย่างอ่อน ไก่อาจป่วยเป็นเดือน อาการหงอยซึม เบื่ออาหาร ท้องร่วง อุจจาระเป็นสีเหลืองหรือเขียว

การป้องกัน

·       ต้องรักษาความสะอาดในเล้าไก่

·       ฉีดวัคซีนให้ไก่อายุ 1 เดือนขึ้นไปนอกจากนี้ยังมีโรคอื่น ๆ อีกหลายโรค เช่น โรคหลอดลมอักเสบโรคพยาธิ เป็นต้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคต่าง ๆ คือ การรักษาความสะอาดเล้าไก่ และภาชนะต่าง ๆ ในเล้า

ข้อพึงระวัง ->

การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน ต้องศึกษาข้อมูล รายละเอียด และมีการวางแผนในระบบต่างๆ ก่อนที่จะเลี้ยงให้แน่ชัด เพื่อที่เมื่อทำการเลี้ยงไก่พื้นบ้านไปแล้วจะได้ผลผลิตและกำไรอย่างที่ตั้งใจไว้

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา