ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การจักสานกระติบข้าว

โดย : นางวันนา ขันทอง วันที่ : 2017-03-24-18:32:48

ที่อยู่ : 19 หมู่ที่ 9 ตำบลเมืองจันทร์

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

กระติบข้าว คือ ภาชนะในการเก็บอาหารที่เป็นงานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าชนิดหนึ่งที่มากด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นของที่ใช้ประจำบ้านของชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้สำหรับบรรจุข้าวเหนียว ที่นึ่งสุกแล้ว  เพื่อรักษาคุณภาพของข้าวนึ่งสุกหรือใช้เก็บเมล็ดพันธุ์พืช การสานกระติบเป็นงานหัตถกรรมที่มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรม และค่านิยมในการบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เดิมภาชนะที่ใช้บรรจุข้าวเหนียวมักทำจากต้นไม้ต้นเล็กๆ นำมาเจาะลำต้นให้กลวงแล้วตัดเป็นท่อนขนาดสั้นๆเป็นกระบอก มีฝาปิด หรือบางครั้งก็ใช้ไม้ไผ่มาตัดเป็นกระบอกสั้นๆนำมาเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว ต่อมามีการปรับปรุงพัฒนาภาชนะบรรจุข้าวเหนียว แต่เดิมพกพาไม่สะดวกในการเดินทางไกลจึงมีการริเริ่มเอาวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ ใบจาก ใบตาล ใบลาน ต้นคล้า ต้นไหล ต้นกกหรือ จากต้นพืชที่มีลักษณะยาวเรียวผ่าเป็นซีกเล็กๆ มาเหลาเป็นแผ่นบางๆนำมาจักสานเป็นตะกร้ากระบุง  บรรจุข้าวสาร และพัฒนามาจักสานเป็นภาชนะบรรจุข้าวเหนียว (กระติบ)  ซึ่งมีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดีทำให้ไอน้ำระเหยออกไปได้   ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุอยู่ภายในยังมีความร้อนและข้าวไม่แฉะด้วยไอน้ำ พกพาง่ายเพราะมีการทำสายสะพาย อีกทั้งยังมีหลายรูปแบบ รูปทรงกลม รูปทรงรี หลากหลายขนาดสอดคล้องกับการใช้งานกระติบข้าวใช้ประโยชน์ในการบรรจุข้าวเหนียว พกพาไปได้สะดวก กระติบข้าวมีอายุใช้งานประมาณ 1 ปีขึ้นไปหรือนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับการรักษา  กระติบขนาดเล็กสำหรับบรรจุข้าวเหนียวสำหรับรับประทานคนเดียว ขนาดกลางสำหรับรับประทาน 2-3 คน ขนาดใหญ่สำหรับรับประทานทั้งครอบครัวเป็นต้น  ซึ่งผู้สานจะใช้ช่วงเวลาว่างหลังจากการทำไร่ทำนา เลือกใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งหาได้ในท้องถิ่นมาผลิตเป็นเครื่องจักสาน  เพื่อความสุขสนุกเพลิดเพลินในการรวมกลุ่มกันทำงานหัตถกรรม ตลอดจนสนองประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนของตนเองและสมาชิกในครอบครัว การสานกระติบเป็นงานที่มักจะกระทำกันภายในครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งหลังจากรับประทานอาหารเย็นแล้ว คนในครอบครัวจะมารวมกัน  เพื่อช่วยกันทำงาน ทำให้เกิดความอบอุ่น สมัครสมานสามัคคีเพราะเมื่อมารวมตัวกันทำงาน ก็จะมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกันถึงเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในแง่มุมต่างๆ ตลอดจนสอนลูกสอนหลานไปด้วยก่อให้เกิดเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ตกทอดและสืบสานกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน  จึงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความ งามบริสุทธิ์แบบธรรมชาติ สะท้อนถึงความเป็นอิสระและการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดและความสามารถของผู้จักสาน ชี้ให้เห็นคุณค่าทางอารยธรรมในการเข้าใจใช้วัสดุธรรมชาติให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของการดำรงชีวิต อีกทั้งยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานอีกด้วย

วัตถุประสงค์ ->

1. ใช้บรรจุข้าวเหนียวรักษาสภาพของข้าวเหนียวให้มีความนุ่มได้นานขึ้น     

2. เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้

3. เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

-

อุปกรณ์ ->

1.       ต้นไหล

2.       เข็ม

3.        มีด

4.        น้ำ

5.       เชือกไนล่อน

6.       ไม้ก้านตาล   

กระบวนการ/ขั้นตอน->

๑. ตัดไหลที่มีอายุได้ประมาณ ๓-๔ เดือน ต้นไม่อ่อนไม่แก่ จนเกินไปโดยตัดเอาส่วนที่เป็นต้น (เพราะไม่เป็นปล้องและข้อ)

๒. ตากไหลให้แห้งใช้เวลาประมาณ ๕ วัน ( อาจนานวันกว่านี้แล้วแต่แสงแดด)

๓. ผ่าไหลเป็นเส้น ขนาดแล้วแต่ความพอใจ ถ้าต้องการความละเอียด สวยงาม จะทำเป็นเส้นเล็กๆ

๔.นำไหลที่ทำเป็นเส้นประมาณ ๑๐ เส้นรวมกันทำเป็นไส้ในการสาน บิดสัก ๕-๖ รอบ แล้วขดเป็นวงกลมขนาดเล็กๆ
๕.ร้อยตอกไหลใส่เข็มสอดสานไปเรื่อยจนได้ขนาดความกว้างและความสูงตามต้องการ ขณะที่สาน

    ควรพรมน้ำบ้างเส้นไหลจะเหนียว

๖.เมื่อสานตัวกระติบเสร็จแล้ว ค่อยสานฝาซึ่งขั้นตอนการสานจะเหมือนกัน เพียงแต่ความกว้างให้กว้างกว่าตัวกระติบเล็กน้อย

๗.เมื่อสานเสร็จแล้วทำขากระติบ ซึ่งใช้ไม้ก้านตาลมาฝ่าเป็นแผ่นบางๆขดเป็นวงกลม ขนาดเท่าตัวกระติบ เจาะรูใช้เชือกมัดขากับตัวกระติบให้แน่น

๘.ทำสายกระติบโดยใช้เชือกไนล่อนแขวนหรือสะพาย เมื่อเสร็จทุกขั้นตอน ก็นำออกจำหน่ายได้ หรือนำไปใช้ได้เลย

ลักษณะที่โดดเด่นของกระติบข้าว  คือ

๑.      เก็บความร้อนได้ดี   ทำให้ข้าวเหนียวที่บรรจุภายในกระติบไม่แฉะด้วยไอน้ำ

๒.     พกพาสะดวก หิ้วไปได้ทุกหนทุกแห่ง

๓.     ใช้ต้นไหลที่มีอยู่มากในชุมชน การปลูกต้นไหลคล้ายกับการปลูกข่า ขิง เมื่อตัดใบไปใช้แล้วก็ปล่อยให้แตก

หน่อใหม่ โดยไม่ต้องปลูกใหม่ เมื่อไหลอายุ3-4 เดือน ก็ตัดเอาส่วนที่เป็นใบหรือต้นปลอม ( เพราะไม่เป็นปล้องหรือมีข้อ) มีลักษณะกลมข้างในกลวงแบบใบหอม เอาไปผ่าเป็นเสี้ยวขูดให้เหลือแต่เปลือกที่แข็งแรง ตากให้แห้ง( ตากก่อนจักเป็นตอกก็ได้) อาจย้อมสีให้สวยงามตามต้องการ นำมาจักสานผลิตภัณฑ์

         

ข้อพึงระวัง ->

-

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา