ความรู้สัมมาชีพชุมชน

image1

การปลูกอินทผาลัม

โดย : นายเทียน หนุ่มน้อย วันที่ : 2017-03-21-12:59:24

ที่อยู่ : บ้านเลขที่ 369 หมู่ที่ 14 ตำบลเนินสว่าง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

          แรงจูงใจที่หันมาปลูกอินทผลัม เพราะความที่ครอบครัวยึดอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว และมีที่ดินเป็นทุนอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมาปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่ว ผัก เป็นการปลูกซ้ำไป-มา อีกทั้งยังต้องประสบปัญหาการขึ้น-ลง ของราคาผลผลิตรวมถึงยังต้องแบกรับภาระต้นทุนปลูก ซึ่งมีแต่ขยับขึ้นอย่างเดียว จึงหารือกันในครอบครัวว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะลองปรับเปลี่ยนการปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง โดยการตั้งโจทย์ขึ้นมา 3 ข้อ ว่าจะปลูกอะไร ใครดูแล และขายที่ไหน              ในที่สุดก็มาจบที่อินทผลัม ด้วยเหตุผลสนับสนุนที่น่าสนใจคือ ต้นอินทผาลัมทนแล้งได้ดี เพราะพื้นที่ของตนเองก็เป็นพื้นที่แห้งแล้งเหมือนกัน และมองว่าถ้าในตลาดมีสินค้าน้อยแล้วความต้องการมีมาก ผลิตคงขายได้แน่ ดังนั้น ปลูกเท่าไรคงขายได้หมด แล้วโอกาสเสี่ยงมีน้อย และหาความรู้เกี่ยวกับการปลูกอิทผาลัมทางอินเตอร์เน็ต มาปรับใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป

วัตถุประสงค์ ->

1. เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว

2. เพื่อเป็นอาหารภายในครัวเรือน
 

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

1. พื้นที่ปลูก

2. ต้นพันธุ์อิทผาลัม

3. ปุ๋ยอินทรีย์/น้ำหมักชีวภาพ/ปุ๋ยเคมี
 

อุปกรณ์ ->

1. เครื่องสูบน้ำ

2. มีด/เลื่อย

3. จอบ/เสียม

กระบวนการ/ขั้นตอน->

1. เตรียมดิน การปรับพื้นดินจะมีการใช้รถไถเดินตามไถพรวนพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะทำเป็นแนวร่องน้ำและคันกั้นน้ำแต่ละต้นไปด้วย เป็นตารางคล้ายคันนาขนาด กว้าง x ยาว ประมาณ 6 x 6 เมตร

2. การปลูกจะขุดหลุม ขนาด 0.8 x 0.8 x 0.8 เมตร ปลูกให้หน่ออยู่ลึกลงไปในหลุม และหน่อจะลึกลงไปในดินประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อให้สามารถเก็บน้ำไว้สำหรับต้นที่ปลูกใหม่ได้ดี ระยะปลูกใหม่ยังไม่ให้ปุ๋ย ให้เหลือเพียงแต่น้ำทุก 5 วัน เมื่อตั้งตัวแล้วประมาณ 1 เดือน จึงจะเริ่มให้ปุ๋ยคอก ต้นละประมาณ 2 กิโลกรัม ในการปลูกระยะแรกจะยังคงมัดรวบใบไว้จนกว่าต้นจะฟื้นและตั้งตัวได้ จึงจะตัดเชือกที่ผูกออก

3. ซื้อต้นกล้าอินทผาลัมเนื้อเยื่อ เพราะสามารถเลือกเพศได้ อินทผลัมเป็นต้นไม้ที่มีดอกตัวเมียและตัวผู้แยกอยู่คนละต้น ในการปลูกเพื่อมีการติดผลที่ดีจะต้องปลูกทั้งต้นตัวผู้และต้นตัวเมียไว้ในสวนเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสร

4. การดูแลรักษาระหว่างการปลูก ดังนี้

          - เมื่อปลูกแล้ว 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการแตกยอด เช่น ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือสูตร15-15-15 สองเดือน/ครั้ง เพื่อให้ต้นอินทผลัมโตเร็ว หรือใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปีละ 2 ครั้ง ต้นฤดูฝน – ปลายฤดูฝน โดยใส่ห่างจากลำต้น 1 ศอก

         - ดูแลรักษาดี จะออกดอกออกผลตั้งแต่ปีที่ 3 ต้น ตัวผู้จะออกดอกก่อนต้นตัวเมีย สามารถปล่อยให้ออกดอกติดผลได้เลย ไม่ต้องกลัวต้นโทรม เพราะระบบรากของอินทผลัมจะหาอาหารเก่งมาก

          - การตัดแต่งใบ จะมีการตัดแต่งทางใบ โดยใช้เลื่อยที่มีลักษณะคล้ายเคียว ผู้ตัดจะปีนขึ้นบนต้นไปตัดทางใบที่แก่แล้วทิ้งไป ต้นละประมาณ 2-3 ทางใบ ทำให้ต้นสะอาดเป็นการป้องกันแมลงศัตรูที่อาจมารบกวนได้ และทำให้การป้องกันสัตว์ที่มากัดกินผลได้ง่ายด้วย

          - การป้องกันกำจัดโรคแมลงและศัตรูอื่นๆ ไม่มีการป้องกันกำจัดโรคแมลง เนื่องจากไม่มีการระบาดของศัตรูดังกล่าว แต่มีนกหรือหนู หรือกระรอกมารบกวนกัดกินผล โดยเฉพาะในช่วงที่ผลใกล้แก่

5. เก็บเกี่ยวต้นอินทผลัมที เริ่มปลูกจะให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 3 ปีขึ้นไป ขึ้นกับสภาพดินและการดูแลรักษา ลักษณะของผลจะกลมรีออกผลเป็นพวงหรือเป็นทะลาย การพัฒนาของผลจะมี 4 ระยะ คือ ระยะที่ผลดิบ ระยะผลสมบูรณ์เต็มที่ ระยะผลสุกแก่ และระยะผลแห้ง การเก็บเกี่ยวสังเกตที่สีของผล

6. การใส่ปุ๋ย หลังจากเก็บผลแล้วจะมีการใส่ปุ๋ยยูเรีย 1 ครั้ง ต้นละประมาณ 3 กิโลกรัม หว่านทั่วใต้ต้น และให้ปุ๋ยคอกต้นละประมาณ 30 กิโลกรัม (1 กระสอบ) 1 ครั้ง ต่อปี หลังจากให้ปุ๋ยยูเรียแล้วประมาณ 10 วัน

ข้อพึงระวัง ->

1. ไม่นำต้นโตลงดิน เพราะรากเดิมที่เกาะกันแน่นต้องใช้เวลากว่าจะแตกรากใหม่

2. ระยะเวลาที่ไม่แนะนำให้ปลูกคือ ช่วงเวลาเดือนมกราคม-ปลายเมษายน เพราะช่วงเวลาดังกล่าวสภาพอากาศร้อนอบอ้าวมาก เป็นอันตรายต่อต้นกล้าเมื่อรดน้ำ

รูปประกอบ -> image1 image2 image3

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดพิจิตร
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา