ความรู้สัมมาชีพชุมชน

การทอผ้าไหมแพรวา

โดย : นายดิศรณ์ ไชยสัตย์ วันที่ : 2017-04-01-00:40:51

ที่อยู่ : 130 หมู่ที่ 7 ต.ทุ่งคลอง

ความเป็นมา / แรงบันดาลใจ / เหตุผลที่ทำ ->

ความหมายของผ้าไหมแพรวา

 

            ผ้าแพรวา  เป็นชื่อเฉพาะที่ชาวอีสานทั่วไปเรียกผ้าชนิดหนึ่ง ที่ใช้สำหรับคลุมไหล่

หรือห่มสไบเฉียงของชาวผู้ไทย  ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาล  บุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ

            ผ้าแพรวา  มีความหมายตามรูปศัพท์  ซึ่งเป็นคำผสมระหว่าง  คำมูล  3  คำ   คือ

          “ผ้า”  หมายถึง  วัสดุอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผืน  ได้จากการเอาเส้นใยของ  ฝ้าย  ไหม  ป่าน  ปอ  ฯลฯ  ซึ่งผ่านกรรมวิธีหลายอย่างเป็นต้นว่า  การปั่นเส้นใยทำเป็นเส้นด้าย  ย้อมสี  ฟอกสี  การฟั่นเกรียว  การเคลือบผิว  ฯลฯ  แล้วนำมาทอเข้าด้วยกันให้เป็นผืนมีขนาดความกว้างความยาวแตกต่างกันไปตามความต้องการใช้สอยประโยชน์  เมื่อทอเสร็จเป็นผืนแล้ว  จะเรียกชื่อต่างกันไปตามชื่อวัสดุที่นำมาใช้ถักทอ  เช่น  ถ้าทอจากใยฝ้าย  เรียกว่า  “ผ้าฝ้าย”  หรือถ้าทอจากเส้นใยไหม  เรียกว่า  “ผ้าไหม”

            “แพร”  หรือ  “แพ”  (ภาษาอีสาน)  หมายถึง  ผ้าที่ยังไม่ได้แปรรูปให้เป็นเสื้อหรือซ่ง  (โส่งหรือกางเกง)  คือยังมีลักษณะเป็นผ้าผืนที่เสร็จจากการทอมักเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวัสดุที่ใช้  เช่น  แพรไหม  (แพไหม)  แพรฝ้าย  (แพฝ้าย)  แพรอีโป้  (แพอีโป้)  เป็นต้น

            “วา”  หมายถึง  มาตรวัดความยาวอย่างหนึ่ง  ได้จากการกางแขนทั้งสองแขนออกไปจนสุด  แล้วทาบกับสิ่งที่ต้องการจะวัดขนาดความยาว  ด้วยการทาบลงไปให้แขนตรงเป็นเส้นขนาน  ทำอย่างนี้แต่ละครั้งเรียกว่า  1  วา  (ต่อมาปรับปรุงมาตรวัดนี้ใหม่ว่า  1  วา 

มีขนาดเท่ากับ  2  ศอก)

วัตถุประสงค์ ->

ผ้าไหมแพรวาของชาวบ้าน  ได้มีความเชื่อว่าผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าชั้นสูง  เป็นผ้ามงคล  ผู้ใดมีไว้ครอบครองหรือสวมใส่ก็จะเป็นมงคลต่อตนเอง  การทอผ้าเป็นการสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรม  แสดงออกถึงอารมณ์  ความรู้สึก  ความสัมพันธ์  ระหว่างศิลปะกับสภาพแวดล้อมที่ผู้ทอได้นึกคิดกรรมวิธีการทอสืบทอดมาจากบรรพชนของแต่ละครอบครัว  ความหมายจากลวดลายบนผืนผ้าเป็นลายที่ดัดแปลงมาจาก  พืชพันธุ์ต้นไม้  หรือสัตว์  ดวงอาทิตย์  ดวงดาว  มาเป็นจินตนาการ  มาเป็นคติความเชื่อว่าเมื่อทอออกมาแล้วผู้ครอบครองจะได้รับแต่สิ่งดีๆตาม

วัตถุดิบ (ถ้ามี) ->

เส้นไหม  สีจากเปลือกไม้ธรรมชาติ

กระบวนการวิจัย  ดำเนินการวิจัยประสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น  ศึกษาวัสดุธรรมชาติที่สามารถให้สีได้  เช่น  ครั่ง  เปลือกแดง  เปลือกกะบก  เปลือกอะลาง

เปลือกหนามคลอง  เปลือกไม้ก้านเหลือง  แก่นฝางแดง  แก่นขนุน  แก่นประดู่  ดอกอัญชัน  แก่นแดง  ขมิ้นชัน  ใบหูกวาง  ใบขี้เหล็กบ้าน  ฯลฯ

อุปกรณ์ ->

อุปกรณ์สำคัญๆ ที่ต้องใช้ในการทอและประดิษฐ์ลายผ้า  ดังนี้

 

            ฟืม  เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง  ทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมมีฟันหลายซี่คล้ายหวีฟัน  มีทั้งที่ทำด้วยลวดหรือไม้  แต่ปัจจุบันนิยมใช้ลวดทำ  กรอบสี่เหลี่ยมของฟืมมีหลายขนาด

 

            เขาหรือเหา  คือ  อุปกรณ์ที่ทำขึ้นจากเส้นด้ายที่

ถักขึ้น  เพื่อใช้กันไม่ให้เส้นไหมที่ผูกไว้กับหูกผ้าเลื่อนยุ่งไปมา  เขาแต่ละอันจะใช้เก็บเส้นไหมไว้เขาละเส้นหูกทอผ้า  (กี่)  คือ  โครงสร้างที่ทำจากไม้เนื้อแข็งที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นโครงสี่เหลี่ยมขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่  และมีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคนทอผ้าที่ต้องเข้าไปนั่นในขณะทอผ้าได้ 

        นอกจากนี้ ส่วนประกอบที่เป็นโครงหูกทอผ้านั้น  ยังมีอุปกรณ์หรือส่วนประกอบอื่นๆ ประกอบด้วย

 

            เขาลายหรือตระกอ  คือ  เส้นด้ายยาวสีขาวที่ขึงไว้กลางหูกสอดค้ำไว้ด้วยไม้ที่ใช้ทำลายขิด

 

            แปรงหวีหูก  คือ  อุปกรณ์ที่นำมาจากเส้นใยของต้นตาล  ทำให้มีลักษณะคล้ายแปรงขนาดใหญ่  ใช้สำหรับช่วยหวีเส้นไหมให้เรียบเพื่อนำไปทอได้ง่ายขึ้น  เส้นไหมจะไม่ยุ่งพันกัน

 

                   ไม้เก็บขิด  คือ  อุปกรณ์ที่ทำจากแผ่นไม้เรียบ  มีลักษณะแบนกว้าง ประมาณ  7-8  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  1  เมตร  แต่บางครั้งก็ใช้ขนาดสั้นเพียง  30  เซนติเมตร  ปลายด้านหนึ่งของไม้เก็บขิดมีลักษณะเรียวแหลม  เพื่อช่วยให้ใช้สะดวกในการสะกิดหรือเขี่ยเส้นไหมในขณะประดิษฐ์ลายผ้า

ไม้ค้ำขิด  คือ  ไม้ที่เป็นแผ่นบางๆ  มีลักษณะคล้ายไม้เก็บขิด  แต่มีความกว้างมากกว่า

คือ  กว้างประมาณ  12-13  เซนติเมตร  ยาวประมาณ  1  เมตร  มีปลายด้านหนึ่งเป็นปลายแหลม เพื่อใช้สอดไม้ขิด  และค้ำไว้ให้ยกขึ้นแล้วสอดนิ้วเพื่อสอดเส้นไหมสีต่างๆ เพิ่มเข้าไปให้เป็นลวดลาย

 

            หลอดหรือกระสวยหลอด  หลอดนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ทำมาจากไม้ปล้องกลมเล็กๆ  ตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ  5-6  เซนติเมตร  ไม้ที่ทำหลอดนี้ต้องเป็นไม้กลวงมีรูยาวตลอด  และสำหรับพ้นเส้นไหมต่างๆ ที่เตรียมไว้ประดิษฐ์ลาย

              ส่วนกระสวยหลอด  คือ  ไม้เนื้อแข็ง

ที่นำมาถากให้เป็นลำลางรูปคล้ายเรือ  

ยาวประมาณ  30 - 40  เซนติเมตร  ที่ตรงกลางของกระสวยเซาะเป็นร่องลึก  มีแกนยึดหัวท้ายเพื่อนำหลอดพันเส้นไหมที่เตรียมไว้สอดยึดเข้าไป

 

 

            ไม้เหยียบหูก  คือ  ไม้สองอัน  ยาวประมาณ  1  เมตร  ที่ใช้เชือกสอดร้อยไว้ อยู่ด้านล่างของหูกทอผ้า  เพื่อเหยียบยึดเส้นด้ายที่หูกขึ้นลงเป็นจังหวะ  เพื่อจะได้สอดกระสวยไปได้

 

            ไม้หาบหูก  เป็นไม้เนื้อแข็งใช้สำหรับสอดเชือกผ่านรูที่เจาะไว้ร้อยเข้ากับฟืมที่แขวนอยู่โครงหูก

 

            ไม้ทำลายขิด  เป็นไม้ไผ่กลมขนาดเล็กๆ มีจำนวนหลายอันเท่ากับจำนวนลายขิด

 

                   ไม้กำฟืมหรือไม้ม้วนผ้า  คือ  ไม้เนื้อแข็งที่ยาวเท่ากับความกว้างของโครงหูกทอผ้า  ซึ่งโดยทั่วไปใช้หน้ากว้าง  6  เซนติเมตร  วางขวางยึดไว้ที่ปลายสุดของหูกทอผ้า มีไว้สำหรับผืนผ้าที่ทอเสร็จแล้ว

กระบวนการ/ขั้นตอน->

เนื่องจากผ้าไหมแพรวา  เป็นผ้าที่มีการประดิษฐ์ลวดลายไปตลอดทั้งผืน  ดังนั้น การทอผ้าไหมแพรวาของชาวบ้านโพน  จึงเป็นการถักทอและประดิษฐ์ลวดลายควบคู่กันไป  การทอและการประดิษฐ์ลาย ถือว่าเป็นลำดับขั้นตอนที่สำคัญในการทอผ้าไหมแพรวา  เพราะเป็นกระบวนการทำให้เส้นไหมสีต่างๆ  ที่เตรียมไว้นั้น

ถักทอสานกันจนเป็นผืนผ้าที่มีลวดลายตามต้องการ

ข้อพึงระวัง ->

ผ้าไหมไทยเป็นผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมสูงจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  ด้วยเอกลักษณ์โดดเด่นที่สวยงามประณีต มีลวดลายและสีสันที่โดดเด่นเป็นพิเศษแตกต่างจากผ้าไหมประเทศอื่นๆ แต่มีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังมีความเข้าใจว่าผ้าไหม นอกจากราคาแพงแล้ว  ยังดูแลรักษายากไม่สามารถซักแบบธรรมดา  ต้องส่งไปซักร้านซักแห้ง  ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง  จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมในการใช้ในชีวิตประจำวันเท่าที่ควร  ซึ่งในความเป็นจริงผ้าไหมไม่ได้ดูแลรักษายากอย่างที่คิด  เพียงแต่ผู้บริโภคนั้นยังไม่รู้จักและเข้าใจวิธีการดูแลรักษาผ้าไหมที่ถูกต้องและง่าย  ฉะนั้นเพื่อให้เกิดการรณรงค์ในการใช้ผ้าไทยให้มากขึ้น  จึงได้นำเสนอวิธีการดูแลรักษาผ้าไหมอย่างง่าย

ขั้นตอนการซักผ้าไหม

            1.  ผสมน้ำยาซักผ้า  (น้ำยาซักแห้งสำหรับผ้าไหม  หรือชนิดที่เป็นกรดอ่อนๆ  เช่น  แชมพูสระผม)  กับน้ำเปล่า 

            2. นำผ้าลงซักใช้มือถูผ้าเบา(ห้ามขยี้แรงๆ เพราะจะทำให้เส้นใยของผ้าไหมแตก)

            3. ล้างออกด้วยน้ำสะอาด  ที่ผสมน้ำยาปรับผ้านุ่ม

            4. นำผ้ามาตากในที่ร่ม  ลมโกรกโดยไม่ต้องบิดผ้า

               หมายเหตุ  ข้อควรระวัง

            1.  การซักผ้าไหมควรซักด้วยมือ ไม่ควรใช้เครื่องซักผ้า

            2.  ผ้าไหมสีเข้มหรือสีสด  เช่น  สีแดง  ม่วงแดง  บานเย็น  ไม่ควรแช่น้ำนาน 

ควรแยกซักกับผ้าสีอ่อน

ขั้นตอนการรีดผ้าไหม

            1.  รีดผ้าไหมในขณะที่ผ้ายังหมาดๆ อยู่

            2.  ผสมน้ำยารีดผ้า  1  ส่วน  กับ  น้ำ  3  ส่วน  ฉีดพรมให้ทั่วผืนผ้าไหม

            3.  พักไว้ 20-30 นาที  (หรือ พับผ้าไหมใส่ถุงพลาสติกนำเข้าตู้เย็นทิ้งไว้สักครู่ ในกรณีที่ผ้าไหมยับมาก)

            4.  ปรับความร้อนของเตารีดในระดับปานกลางถึงแรง  (หรือในตำแหน่ง  Silk)

            5.  การรีดควรรีดด้านในของผ้า  หรือใช้ผ้าขาวบางทับบนผ้าไหมก่อนรีด

 

               หมายเหตุ  ข้อควรระวัง

            ควรใช้น้ำยารีดผ้าคุณภาพดี มิฉะนั้นอาจทำให้ผ้าไหมมีรอยด่างได้  

เว็บไซต์สัมมาชีพชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย

โทรศัพท์ :
Email :
ที่อยู่ :

เกี่ยวกับเรา