ภาพกิจกรรม

จังหวัดอุบลฯ เดินหน้าเต็มกำลัง ขับเคลื่อน แปลงตัวอย่าง "โคก หนอง นา โมเดล" ในพื้นที่

จังหวัดอุบลฯ เดินหน้าเต็มกำลัง ขับเคลื่อน แปลงตัวอย่าง "โคก หนอง นา โมเดล" ในพื้นที่ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 เวลา 16.45 น. นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่อำเภอน้ำยืน ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" งบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ พ. ศ. 2563 ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 4,489,200 บาท ให้ดำเนินการขับเคลื่อน การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการทํา "โคก หนอง นา โมเดล" ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 25 แปลง เพื่อให้เป็นฐานเรียนรู้แก่ผู้ที่สนใจในการทำเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ในรูปแบบ "โคก หนอง นา โมเดล" ในการลงพื้นที่ของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีครั้งนี้ ได้ให้ข้อแนะนำการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสร้างเครือข่ายการทำ "โคก หนอง นา โมเดล" แก่นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านเลขานุการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยให้จัดทำฐานข้อมูลเจ้าของแปลงที่เข้าร่วมโครงการ ระบุจุดเด่นเเละบริบทของพื้นที่ดำเนินการ องค์ความรู้เเละความถนัดเจ้าของแปลง และให้มีการจัดทำข้อมูลความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ โดยเริ่มตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และเมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ ให้มีการเก็บหลักฐานการขับเคลื่อนในทุกกิจกรรม เพื่อให้เห็นถึงผลที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ เพื่อนำมาเปรียบเทียบระหว่างเริ่มต้นและเมื่อสิ้นสุดโครงการ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เข้าร่วมโครงการอย่างไร มีความคุ้มค่าในงบประมาณที่ใช้ไปหรือไม่ โดยให้จัดทำเป็นสรุปหลักฐานเชิงประจักษ์ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา โมเดล" งบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการในรูปแบบการบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะในกิจกรรมการปรับแต่งพื้นที่สร้างฐานเรียนรู้ในแปลงตัวอย่าง มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่มีเครื่องจักรกลสำหรับการขุดและปรับแต่งพื้นที่ สนับสนุนเครื่องจักรกลเพื่อใช้ในการขุดและปรับแต่งพื้นที่ อีกทั้งยังมีบริษัทเอกชนร่วมสนับสนุนเครื่องจักรกลสำหรับการขุดและปรับพื้นที่ด้วยเช่นกัน ถือเป็นมิติใหม่แห่งความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนโครงการดี ๆ สำหรับสร้างแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้มีแหล่งเรียนรู้เพื่อใช้เป็นสถานที่เรียนรู้และนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้